แผลร้อนในในปาก

แผลร้อนในในปาก
แผลร้อนในนั้นเกิดจากภาวการณ์พร่อง โดยแผลร้อนในเป็นแผลที่พบมากบริเวณริมฝีปากด้านใน หรือกระพุ้งแก้ม หรือเหงือก บางรายเกิดแผลร้อนในที่ลิ้น   แผลร้อนในจะเริ่มจากตุ่มเล็กๆ แล้วกลายเป็นวงและมีขนาดใหญ่ขึ้น ตรงกลางจะมีเยื่อสีขาวบางๆ ขอบจะบวมแดง และมีอาการปวด มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งนิ้ว บางรายเกิดขึ้นตำแหน่งเดียว บางรายเกิดหลายตำแหน่งพร้อมๆกัน บางรายแผลเก่ายังไม่ทันหายแผลใหม่ก็มาเกิด จะเจ็บมาก เมื่ออาหารหรือลิ้นไปโดนถูก
สาเหตุของแผลร้อนในในปาก 
แท้จริงแล้ว แผลร้อนในในปาก ไม่ได้เกิดจากเชื้อใดๆ แต่แผลร้อนในในปากหรืออาการร้อนใน เกิดจากคนที่มีภาวะอุณหภูมิความเย็นในร่างกายบกพร่อง จากกรรมพันธุ์หรือเป็นพื้นฐานของร่างกาย ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วมีพฤติกรรม ที่ทำให้อุณหภูมิความร้อนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น เช่น รับประทานอาหารเผ็ด ของทอด-อบ-กรอบ ผลไม้บางชนิด
จึงเกิดความไม่สมดุลของร่างกาย ทำให้แสดงออกมาเป็นอาการร้อนใน  เมื่อร่วมกับการนอนดึก หรืออดนอน ก็จะเกิดแผลร้อนใน บางรายอาจมีอาการร้อนในอื่นๆ เช่น เจ็บคอ ลิ้นแตกหรือเป็นแผลร้อนในที่ลิ้น เหงือกบวม มีเสมหะ ไอ เป็นไข้ ร่วมด้วย หรือหายจากเป็นไข้ แล้วมีแผลร้อนในขึ้นมา หรือบางท่านอาจไม่เป็นไข้ แต่จะมีแผลร้อนในในปากบ่อย
บางท่านอาจคิดว่า แผลร้อนในในปาก เกิดจากการกัดถูกกระพุ้งแก้มหรือลิ้นของตัวเอง แต่ความจริงแล้วเกิดจากร้อนใน เพราะเมื่อร้อนใน กระพุ้งแก้มก็หนาตัวขึ้นหรือลิ้นจะมีการพองตัวมากขึ้น จึงไปกัดถูก แล้วกลายเป็นแผลร้อนในขึ้นมา
บางท่านจัดฟันหรือแปรงฟัน แล้วแปรงไปกระแทกถูก ถ้าหากว่าไม่มีอาการร้อนใน เพียงแค่ 1-2 วันแผลก็จะหายเป็นปกติ แต่ถ้าร่างกายร้อนใน แผลนั้นก็จะกลายเป็นแผลร้อนในในปาก และแผลร้อนในนั้นยังอาจขยายใหญ่ขึ้นอีก
ร้อนในมีหลากหลายอาการแล้วแต่ว่าจะเกิดกับอวัยวะส่วนไหน เช่น เส้นที่คอตึง ตกหมอน มีขี้ตา ตาแฉะ ระคายเคืองตาบางครั้งน้ำตาไหลเอง หรือมีเม็ดที่ตาคล้ายตากุ้งยิง มีเสมหะ ไอ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ(Tonsillitis) แผลร้อนในในปาก เหงือกบวม ลิ้นแตก ในปากมีตุ่มปูด ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ท้องผูก อุจจาระแข็ง-ดำ (ระบบทางเดินอาหารไม่มีเลือดออก) แต่บางครั้งก็ถ่ายเหลวและมีลม บางทีก็ร้อนในในหลายส่วนพร้อมกัน ทำให้มีหลายอาการพร้อมกัน
รวมถึงเป็นต้นเหตุของอาการไข้หวัด เพราะเมื่อร้อนใน ภูมิต้านทานก็ลดลง อาการเหล่านี้แต่ละคนจะไว(Sensitive)ไม่เท่ากัน เนื่องจากธาตุของแต่ละคนไม่เท่ากัน
การรักษาอาการร้อนใน แผลร้อนในในปาก เบื้องต้น
•    ห้ามรับประทานยาบำรุง เช่น เขากวางอ่อน โสมคน(หยิ่งเซียม)   ยาที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น พริกไทย ดีปลี อบเชย(ชินนามอน)
•    งดอาหารที่ทอดน้ำมัน อาหารรสเผ็ด อาหารหวานจัด หรือขนมบางอย่างเช่น คุ้กกี้ ขนมกรอบๆ หรือเบียร์บางยี่ห้อ ผลไม้บางชนิด เช่น ลำไย ทุเรียน เงาะ ขนุน ลิ้นจี่ ละมุด มะม่วงสุก รวมถึงข้าวเหนียว (แต่ละคนไวต่ออาหารและชนิดของอาหารไม่เหมือนกัน)
•    ควรเลือกทานอาหารที่มีธาตุน้ำ เช่น ฟัก แตงกวา แตงโม ส้ม เป็นต้น เพราะจะทำให้ช่วยปรับความเย็นในร่างกายให้ดีขึ้น
•    สำหรับเด็กที่ดื่มนมชง ให้สังเกตนมชงด้วย เพราะนมแต่ละยี่ห้อ มีสูตรที่ไม่เหมือนกัน บางสูตรทำให้ร้อนใน
•    นอนหลับให้เต็มที่ 6- 8 ชั่วโมง และดื่มน้ำให้มากขึ้นในกรณีที่ดื่มน้ำน้อย
•    ควรเลี่ยงกิจกรรมกลางแสงแดด หรือกิจกรรมบางอย่างที่อาจจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
•    บ้วนปากด้วยน้ำผสมเกลือเล็กน้อย ( แสบๆคันๆ นิดนึง ) หลังแปรงฟันทุกครั้ง จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น

ทีวีออนไลน์