อาหารกับความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตเป็นแรงดันของเลือดที่กระทำต่อผนังหลอดเลือด จะวัดออกมาเป็นค่ามิลิเมตรปรอท (mmHg.) ความดันจะวัดออกมาสองค่าคือ ค่าตัวบนหรือ Systolic เป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว ส่วน Diastolic เป็นความดันตัวล่าง เป็นความดันโลหิตขณะที่ หัวใจคลายตัว   ความดันโลหิตตัวบนของคนปกติมีค่าไม่เกิน140 มิลิเมตรปรอท ความดันโลหิตตัวล่างของคนปกติมีค่าไม่เกิน90 มิลิเมตรปรอท คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะมีค่าความดันโลหิตสูงกว่า 140/90มิลลิเมตรปรอทอยู่ตลอดเวลา  ตามปกติความดันโลหิตของคนเราอาจจะขึ้นๆลงๆ เวลาหลับความดันโลหิตจะต่ำกว่าเวลาตื่น และเวลาตกใจ กลัว ดีใจ เครียด เหนื่อย ความดันโลหิตจะสูงขึ้น ความดันโลหิตที่สูงไม่ยอมลงนี้เรียกว่าโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งถ้าเป็นอยู่โดยไม่ได้รับการรักษา อาจเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดแดงในสมองแตกทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตหรืออาจถึงตายได้ นอกจากนี้ทำให้หลอดเลือดแดงหนา และแข็งตัว จนตีบหรืออุดตันได้ง่าย และ เกิดภาวะในสมองขาดเลือด เป็นอัมพาต เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือทำให้ตาบอด ไตเสื่อม และไตวายในที่สุด
สาเหตุของความดันโลหิตสูง อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่
1. พวกที่หาสาเหตุได้ เช่น จากโรคไตอักเสบ เส้นเลือดแดงตีบ เป็นต้น กลุ่มจำเป็นต้องปรึกษาอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคนั้นๆ ว่า ควรจะมีข้อปฏิบัติหรือข้อห้ามในการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับโรคอย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
2. พวกที่หาสาเหตุไม่พบ หรือ essential HT ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนมากมักจะเป็นชนิดนี้  อาหารควรเน้นถึงความสำคัญในการควบคุมและเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม เพราะการรับประทานอาหารผิดอย่างต่อเนื่องมีผลในทางลบได้เสมอ
วิธีป้องกันและรักษาความดันโลหิต ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องโดยควบคุมดังนี้
1. ควบคุมร่างกายไม่ให้อ้วน หรือถ้าอ้วนอยู่แล้วก็ต้องลด
2. กินอาหารที่มีรสเค็มให้น้อยลง งดของดองเค็มทุกชนิด เช่น ปลาเค็ม ปูเค็ม ไข่เค็ม เครื่องปรุง รสที่มีเกลือ เช่น น้ำปลา น้ำซอสต่าง ๆ ควรใช้ให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช่เลยก็ยิ่งดี
3. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ
4. พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจให้เพียงพอ
5. ปรับวิธีการดำเนินชีวิตให้มีความเครียดน้อยลง
6. งดการสูบบุหรี่หรือการดื่มเหล้า
7.รับประทานยาตามแพทย์สั่ง กินอาหารและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตสูง และป้องกันการแทรกซ้อนได้  
อาหารที่เหมาะสมในการรับประทานสำหรับควบคุมความดัน (อาหารจำกัดโซเดียม) มีดังนี้
อาหารที่ควรงด
- อาหารทุกชนิดที่หมัก ดอง และถนอมด้วยเกลือ น้ำปลา น้ำซีอิ้ว และของเค็ม
- หอย เปาฮื้อ ปู กุ้ง ปลาแช่เย็น-แช่แข็ง เนื้อ-ปลากระป๋อง เนื้อเค็ม เนื้อตากแห้ง ปลาเค็ม ปลาแห้ง แฮมและปลารมควัน น้ำเนื้อ ซุปน้ำเนื้อ ซุปน้ำใส สมอง ไต
- เนยแข็งทุกชนิด
- ไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า ไข่ดอง
- นมเปรี้ยว (buttermilk)
- ธัญพืชทุกชนิดที่ใส่เกลือ ผลิตภัณฑ์แป้งที่ใส่เกลือ (ขนมปังชนิดต่างๆ) หรือมีเนย ผงฟูและโซดาไบคาโบเนต เป็นส่วนประกอบ
- ผักกระป๋องหรือแช่แข็งที่ใส่เกลือและสารกันบูดที่มีโซเดียม ผักดอง น้ำมะเขือเทศ มันทอดกรอบใส่เกลือ
- ผลไม้ตากแห้งที่ใส่สารที่มีโซเดียม ผลไม้ แช่อิ่ม-ดอง และผลไม้กระป๋องที่มีเกลือและสารกันบูดที่มีโซเดียม
- เนยที่ใส่เกลือ น้ำสลัดขันและใส เนยถั่วลิสง น้ำมันจากเบคอน
- ซุปน้ำใสจากน้ำต้มกระดูกและเนื้อทุกอย่างที่ใส่เกลือ
- อาหารหวานทุกอย่างที่ใส่เกลือ ผงฟู โซดาไบคาโบเนต ของหวานที่มีโซเดียมประกอบอยู่
- เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ซอสชนิดต่างๆ น้ำเนื้อ มัสตาส เครื่องแกงทั่วไป เครื่องเทศที่ใส่เกลือ ปลาร้า ปลาเจ่า กุ้งแห้ง
- น้ำอัดลมอื่นๆ ช็อคโกแลตสำเร็จรูป โกโก้
อาหารที่รับประทานได้
- เนื้อวัว-เนื้อหมู-เนื้อไก่-เนื้อปลา-หอย (นางรม)-สดทุกชนิด-ตับ-หัวใจ-ลิ้น-กระเพาะสด
- เนยแข็งทำพิเศษมีโซเดียมต่ำ
- ไข่สดทุกชนิดประกอบเป็นอาหาร โดยไม่ปรุงรสให้เค็ม
- น้ำนมทุกชนิด
- ขนมปังธรรมดา ขนมปังไม่ใส่เกลือ ธัญพืชไม่ใส่เกลือ ข้าว มะกะโรนี สปาเกตตี้ และผลิตภัณฑ์จากแป้งที่ไม่ใส่เกลือ หรือที่ไม่ใช้เนยที่ใส่เกลือ
- ผักสด ผักกระป๋องหรือแช่แข็งที่ไม่ใส่เกลือ
- ผลไม้สด ผลไม้กระป๋องที่ไม่ใส่เกลือ ผลไม้ตากแห้งที่ไม่ใส่เกลือ ผลไม้แช่แข็ง
-ไขมัน น้ำมันที่ไม่ใส่เกลือ เนยที่ไม่มีเกลือ น้ำสลัดที่ไม่ใส่เกลือ เนยถั่วลิสงที่ไม่ใส่เกลือ
- ซุปที่ไม่ใส่เกลือ ทำจากอาหารที่อนุญาต ให้รับประทาน
- ของหวานทุกชนิดที่ไม่มีเกลือ ผงฟู โซดาไบคาโบเนตประกอบ วุ้น น้ำผึ้ง น้ำตาล แยม เยลลี่ ที่ไม่ใส่สารกันบูดที่มีโซเดียมไม่ใส่เกลือ ลูกกวาดไม่มีเกลือโซดาไบคาโบเนต
- เครื่องเทศที่มีโซเดียม ผักใบที่ใช้ปรุงรสชนิดต่างๆ เครื่องแกงที่ใส่โซเดียม หรื ส่วนประกอบโซเดียม เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมน้อย สารปรุงรสแทนเกลือ(ถ้าแพทย์อนุญาต) น้ำตาล น้ำส้ม น้ำหอมปรุงรส
- กาแฟ ชา โคคา-โคล่า ช็อคโกแลต หรือโกโก้ที่ไม่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ

อาหารที่ควรรับประทานหลักๆ 5 หมู่ ซึ่งได้แก่ นม ไข่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ถั่วเมล็ดแห้งและงา ข้าว แป้ง เผือกมัน น้ำตาล พืชผักผลไม้ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการรับประทานอาหารต่างๆ นั้นควรบริโภคให้หลากหลายไม่ซ้ำซาก การกินอาหารบางชนิดซ้ำๆทุกวัน อาจทำให้ได้รับสารอาหารบางประเภทไม่เพียงพอหรือมากเกินไป จนเกิดโทษแก่ร่างกายและมีผลต่อโรคภัยไข้เจ็บ

ทีวีออนไลน์